บทความนี้เรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ของผู้สอนที่ได้รับมอบหมายให้ทำการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับงานอาสาสมัคร การทำงานอาสาสมัครเป็นงานที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมข้ามแผนก (Cross Functional) มีภาวะผู้นำ และมีจิตที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ งานอาสาสมัครจะเริ่มจากการ ปันน้ำใจ ให้ความรัก และความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ ในขณะเดียวกันงานอาสาสมัครจะเชื่อมโยงไปกับความเป็นจิตสาธารณะ และเมื่อทำงานใดๆ ก็ตามจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ศาสตร์ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์เป็นศาสตร์สาขาที่มีความเป็นสหวิทยาการ ที่มีความเชื่อมโยงกับศาสตร์สาขาต่างๆ แบบองค์รวม ซึ่งงานอาสาสมัคร หรือรายวิชานี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เกิดจากจิตใจ ของการให้ การรับ และการมอบผลประโยชน์ ซึ่งจะสอดคล้องไปการจัดการภาครัฐใหม่ (New Public Management) ที่เน้นในเรื่องของความเป็นภาครัฐที่มีบทบาทของผู้ประกอบการ และการกระจายอำนาจ และให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสังคม (Social Equity) ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของการทำกิจกรรมที่ผู้สอนได้มอบหมายให้ ภาค กศ.พป. ห้อง 10.15 และ 10.16 ได้ดำเนินการไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ร่วมทำกับ อพม. อำเภอดอนตูม หรือการทำกิจกรรมที่ดูแลผู้สูงอายุในวัดบางแพใต้ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี การเดินรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน การรณรงค์การแต่งกายเรียบร้อย การจัดทำนิทรรศการเพื่อแนะนำหน่วยงานอาสาสมัคร เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ได้ร้อยดวงใจของความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) ของการร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในฐานะผู้สอน กิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เรียนได้ร่วมคิดร่วมทำนั้นเป็นกิจกรรมที่มาจากหัวใจของผู้เรียน และผู้เรียนสามารถที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนมานั้นไปใช้ได้อย่างถูกต้อง การเรียนในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ผู้เรียนขาดการมองภาพที่ชัดเจน หรือแม้แต่การเรียนทางทฤษฎี ซึ่งทฤษฎีเป็นสิ่งที่เข้าใจยากและมีการพัฒนาตามห้วงเวลา ดังนั้นงานอาสาสมัครจึงมีจุดกำเนิดจากการเรียนรู้ที่ลงมือปฏิบัติ
สุดท้ายกิจกรรมงานอาสาสมัครทุกกิจกรรมจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ดี หากผู้เรียนไม่ร่วมมือกันทำงาน การทำงานที่ดีจึงต้องร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นด้วย ผู้สอนจึงขอกล่าวชื่นชมและขอให้นักศึกษาทุกคนทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
เรียบเรียงโดยอาจารย์นิภาพรรณ เจนสันติกุล |