เมื่อพูดถึงคำว่าอาสาสมัคร เรามักจะนึกถึงการทำกิจกรรมต่างๆ และมองในแง่ของการเสียสละ การให้ประโยชน์ ในมุมมองของผู้เขียน งานอาสาสมัครจะเริ่มต้นจากความสมัครใจ สมัครใจที่จะคิดริเริ่ม ลงมือปฏิบัติและยอมรับกับผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติ งานอาสาสมัครจะเป็นการถ่ายทอดความรู้สึก การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแนวคิดจาก ตนเองที่ไม่สามารถช่วยอะไรสังคมได้เลย มาเป็น ช่วยได้ไม่มากก็น้อย งานอาสาสมัครมีด้วยกันหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ อาสาสมัครสาธารณสุข ครูอาสา บ้านน้ำใจ เป็นต้น การทำงานอาสาอาจจะเริ่มจากการเป็นกลุ่มและพัฒนาเป็นชมรมและเติบโตขึ้นเป็นสมาคม/สโมสร และเป็นองค์กร หรือมูลนิธิ พัฒนาการเพียงแค่จุดเล็กๆ ที่เริ่มจากหัวใจจะสามารถสร้างต้นทุนทางจิตใจให้มีความงอกงามและสอดรับกับแนวคิด CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ทำให้องค์กรธุรกิจหันมาให้ความสนใจและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น อาสาสมัครจึงเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม การเรียนรู้ และ จิตสาธารณะ นั่นเอง
จากการที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่ร่วมกับ อพม. อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม พบว่า การปฏิบัติงานในครั้งนี้ทำให้นักศึกษาแต่ละคนได้รับประโยชน์จากการร่วมงานดังนี้
1. เป็นการปฏิบัติงานที่ได้สัมผัสกับชุมชน ประชาชน ในพื้นที่จริงๆ ทำให้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน ได้พูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ และสามารถช่วยเหลือความเดือดร้อนเบื้องต้นได้
2. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสในสังคม แบ่งเบาภาระ และเป็นการเยี่ยมเยียนประชาชนทั่วไปทำให้รู้สึกว่ามีผู้ที่ห่วงใยว่ายังมีแหล่งเงินสงเคราะห์การจัดการศพผู้สูงอายุ
3. รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานอาสาสมัครในการช่วยเหลือประชาชน โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ
เรียบเรียงโดยอาจารย์นิภาพรรณ เจนสันติกุล
อ้างอิงจากแบบบันทึกการปฏิบัติงานของนักศึกษาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552
ป.ล. สามารถเข้าชมภาพกิจกรรมดังกล่าวของนักศึกษาได้จากประมวลภาพกิจกรรม (http://program.npru.ac.th/pa/gallery/activity.php?module=gallery&cate_id=4)